ความปลอดภัยในงานเชื่อมหรือตัดโลหะ (Welding & Cutting)

การเชื่อม หรือ การตัดโลหะ เป็นงานที่จำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการก่อสร้างอาคาร ร้านค้า ป้ายโฆษณา รวมถึงโครงสร้างต่างๆที่เราพบเห็นกันอยู่ทุกวัน ทั้งนี้ก็เพื่อตัดโลหะออกจากกัน หรือ เพื่อยึดติดโลหะเข้าด้วยกันให้แน่นแข็งแรง ซึ่งในการเชื่อม/ตัดโลหะจะก่อให้เกิดมลพิษทางสภาพแวดล้อมในการทำงานประเภทต่างๆ มากมาย ต่อตัวผู้ปฏิบัติงานโดยตรง

ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมด้วยไฟฟ้า หรือแก๊ซ ล้วนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งอาจจะทำให้เสียชีวิตทันทีหากได้รับอันตรายจากไฟฟ้าดูด หรือการระเบิด และยังส่งผลต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดโรคจากการทำงาน เนื่องจากแสง หรือ รังสี ตลอดจนฟูมของโลหะซึ่งมีผลโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาดเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ในระยะเวลาไม่กี่ปี หากไม่มีการป้องกันอย่างถูกต้อง

ซึ่งวิธีการปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัยในการทำงานที่เกี่ยวกับการเชื่อม และตัดโลหะ มีดังนี้

1. อันตรายจากไฟฟ้าดูด

ระบบไฟฟ้าในการเชื่อมชนิดเชื่อมไฟฟ้า จะเริ่มจากแหล่งจ่ายไฟและจบลงที่สายดิน กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านสู่ชิ้นงาน กระแสที่มีประจุตรงกันข้ามจะไหลในทิศทางกลับกัน  กระแสไฟฟ้าจะต้องไหลลงสู่ดินเพื่อให้วงจรสมบูรณ์ และในการไหลลงสู่ดินนี้กระแสไฟฟ้า  จะเลือกทางเดินที่สะดวกที่สุดเสมอ 

กระแสไฟฟ้าที่ใช้จะมีความต่างศักย์ 80 โวล์ท การลัดวงจรของกระแสไฟฟ้าที่มีความต่างศักย์ดังกล่าว อาจไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ก่อให้เกิดอันตรายอื่น ๆ ได้ เช่น เป็นแหล่งความร้อน ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ ไม่ควรใช้เครื่องเชื่อมที่ใช้ในไฟฟ้ากระแสตรงและไฟฟ้ากระแสสลับบนชิ้นงานเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน 

ในกรณีที่ร่างกายของผู้เชื่อมสัมผัสกับขั้วไฟฟ้าที่ต่างกัน กระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านตัวผู้เชื่อม อาจสูงถึงขั้นเป็นอันตรายได้ ตามที่ได้กล่าวแล้วว่ากระแสไฟฟ้า 80 โวล์ท ไม่มีอันตรายถึงกับชีวิต  แต่จะมีผลต่อการควบคุมกล้ามเนื้อซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น การพลัดตกจากนั่งร้าน อย่าพันสายไฟไว้รอบตัวเพราะฉนวนหุ้มสายไฟอาจอยู่ในสภาพชำรุด  เลือกใช้มือจับลวดเชื่อมให้เหมาะสมกับไฟฟ้าที่ใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความร้อนสูง แต่ถ้าเกิดความร้อนสูงขึ้นแล้วอย่าแช่มือจับลวดเชื่อมลงในน้ำ อย่าทิ้งมือจับลวดเชื่อมไว้โดยไม่ดูแล ควรระวังการเกิดเพลิงไหม้ เตรียมเครื่องดับเพลิงไว้ในบริเวณทำงาน ถ้าหลีกเลี่ยงได้ไม่ควรเชื่อมวัสดุที่ติดไฟได้เป็นแนวยาวเกิน 35 ฟุต 

ถ้าจำเป็นต้องทำจะต้องแต่งตั้งคนคอยระวังเพื่อตรวจตราและแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เพราะผู้เชื่อมไม่สามารถมองเห็นไฟได้ขณะทำการเชื่อม จะพบเห็นต่อเมื่อลุกลามจนยากต่อการควบคุม อาจเกิดการระเบิดขณะทำการเชื่อม ผงฝุ่นเล็ก ๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศเกิดการลุกไหม้

2. อันตรายจากแสงจากการเชื่อม

แสงจ้าจากการเชื่อมเป็นอันตรายต่อดวงตาและอาจทำให้ผิวหนังไหม้ได้รังสีในห้องเชื่อมที่เป็นอันตรายจะอยู่ในช่วงความถี่ตามองไม่เห็น คือช่องรังสีใต้แดง (infrared) และรังสีเหนือม่วง (ultraviolet) 

รังสีทั้งสองชนิดนี้ทำให้เกิดอันตรายต่อสายตาและผิวหนังได้อย่างรุนแรง คือ ดวงตาระคายเคืองถึงกับอักเสบและน้ำตาไหล ผิวหนังส่วนที่ได้รับรังสีจะเป็นเหตุให้ผิวไหม้และรู้สึกปวดแสบปวดร้อนเป็นเวลา 24 – 48 ชั่วโมงขึ้นไป ยาวนานตามระยะเวลาที่ได้รับรังสีนั้น ๆ ก๊าซบางชนิด เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ จะสามารถกรองและดูดซับรังสีนี้ได้มาก แต่ในทางตรงกันข้าม อาร์กอนจะไม่มีผลต่อการลดความเข้มของรังสีเหนือม่วง 

ดังนั้นบุคคลที่เชื่อมโดยใช้อาร์กอนจึงมีความเสี่ยงต่อรังสีเหนือม่วงมากกว่าบุคคลที่เชื่อมโดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์  สารที่เคลือบลวดเชื่อมหลายชนิดจะให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาขณะเกิดการเผาไหม้ 

นอกจากนี้ สารที่เคลือบลวดเชื่อมบางชนิดจะมีผลต่อการลดการแพร่รังสีเหนือม่วงอีกด้วย แต่โดยทั่วไปแล้วอัตราการแพร่รังสีของรังสีเหนือม่วงในงานเชื่อมประเภทการเชื่อมด้วยก๊าซยังมีค่าสูง

ดังนั้นควรปกป้องสายตาโดยการใช้กระจกค่าตัดแสงที่เหมาะสมกับชนิดของงาน American Welding Society ได้กำหนดระดับความเข้มข้นของแผ่นตัดแสงที่เหมาะสมกับงานเชื่อมแต่ละประเภท 

ดังนั้นจึงควรเลือกใช้แผ่นตัดแสงที่มีความเข้มสูงกว่าที่กำหนดได้เสมอ แต่อย่าใช้แผ่นที่มีความเข้มต่ำกว่าที่กำหนด แผ่นกรองแสงนี้อาจทำมาจากกระจก พลาสติก อาจมีการเคลือบทองในลักษณะที่มนุษย์อวกาศใช้ ถ้าใช้แผ่นกรองแสงเคลือบทอง ควรตรวจสอบการเคลือบว่าไม่มีรอยขีดข่วนใด ๆ 

เนื่องจากดวงตาจะไม่สามารถรับรู้อาการเจ็บป่วยได้จนกว่าดวงตาจะถูกรังสีต่าง ๆ จะทำลายอย่างรุนแรงและอาจเป็นการทำลายโดยถาวร

           แสงจ้าจากการเชื่อมสามารถทำอันตรายต่อผิวหนังได้เช่นกัน ผู้เชื่อมควรสวมใส่เสื้อผ้าสีเข้มไม่สะท้อนแสง ถ้าสวมใส่ชุดสีอ่อนขณะทำการเชื่อมอาจสะท้อนแสดงจากการเชื่อมจะเกิดอาการไหม้ บริเวณลำคอได้ การเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกัน และเลือกสีเสื้อผ้าที่เหมาะสมสามารถช่วยป้องกันได้ควรมีการปกปิดผิวหนังทุกส่วน

3. อันตรายจากฟูม (FUME) และก๊าซที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

   ฟูม (Fume) เป็นอนุภาคของแข็งที่เกิดขึ้นจากการควบแน่นของสารที่อยู่ในสถานะที่เป็นก๊าซ โดยทั่วไปสารนั้นๆ จะอยู่ในสถานะของแข็งที่อุณหภูมิห้อง เมื่อได้รับความร้อนก็จะระเหยและจะควบแน่นทันที ตัวอย่างฟูมที่พบในการทำงาน ได้แก่ ฟูมของตะกั่วออกไซด์ ฟูมของเหล็กออกไซด์ฯลฯ มนุษย์ได้เรียนรู้วิธีการเชื่อมมานานแล้ว 

แต่ไม่ค่อยได้ตระหนักถึงอันตรายของฟูมและก๊าซที่เกิดขึ้นในงานเชื่อมสักเท่าไร การศึกษาในประเภทนี้เพิ่งจะเริ่มขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1970-1980 เท่านั้น จากการวิเคราะห์พบว่าสารเหล่านี้มีส่วนประกอบของโลหะออกไซด์และสารที่เคลือบบนลวดเชื่อม ซึ่งสารเหล่านี้จะปะปนอยู่ในอากาศที่ใช้ในการหายใจและอาจผ่านเข้าสู่ปอดได้ พัดลมดูดอากาศสามารถใช้เพื่อกำจัดฟูมเหล่านี้ออกจากบริเวณทำงานได้ แต่ควรระวังอย่างให้ฟูมเหล่านี้หมุนเวียนเข้ามาสู่บริเวณหายใจ

สิ่งหนึ่งที่ควรระวังคือ ถ้าปริมาณมากขึ้นอัตราการถ่ายเทอากาศควรมีค่าสูงขึ้นเช่นกัน
ค่าความเข้มข้นของฟูมในบรรยากาศรอบๆบริเวณทำงานจะต้องถูกควบคุมให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยแต่ในทางปฏิบัติแล้วควรจะกำจัดออกให้หมด จะต้องระวังที่จะไม่หายใจเอาฟูมนี้เข้าไป นอกจากนี้ในระหว่างการเชื่อมอาจเกิดก๊าซพิษร่วมกับควัน ก๊าซต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นคือ

           1) ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ มักเกิดในบรรยากาศแต่อาจเกิดได้ขณะทำการเชื่อม จะก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ตา จมูกและลำคอ อาจทำให้หมดสติได้ ควรติดตั้งระบบระบายอากาศเฉพาะที่เพื่อแก้ปัญหานี้

           2) ก๊าซโอโซน (เกิดจากรังสีอัลตราไวโอเลตทำปฏิกิริยากับออกซิเจน) มักเกิดจากการเชื่อมที่ใช้อาร์กอน ซึ่งเป็นก๊าซที่ใช้ตัดเหล็ก ในการเชื่อมควันจากการเชื่อมทังสเตนหรือการเชื่อมด้วยก๊าซ ก๊าซโอโซนจะก่อให้เกิดการระคายเคืองตาและเยื่อบุโดยจะทำให้เกิดโรค Pulmonary edema โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเรื้อรัง

           3) ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ เกิดจากการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซเชื่อมหรือเกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของสารบางชนิด เช่น สี หรือ ไข อาจเกิดอันตรายจากการได้รับก๊าซนี้มีอาการมึนงง เวียนศรีษะ หรือหมดสติและเสียชีวิตได้
ฯลฯ

4. อันตรายจากการลุกไหม้ และการระเบิด

อาจเกิดขึ้นได้ในขณะทำการเชื่อม ถ้าไม่หาวิธีควบคุม และป้องกันอันตรายที่ดีพอ การเชื่อมแบบต่างๆ ย่อมทําให้เกิดประกายไฟ และสะเก็ดไฟกระเด็น ซึ่งเป็นจุดให้เกิดไฟไหม้และการระเบิดได้ ถ้าไม่หาทางป้องกันไว้ก่อน ดังนั้นจึงต้องมีอุปกรณ์ในการดับเพลิงวางไว้ใกล้กับบริเวณที่ทำการเชื่อม หรือจัดให้มีผู้สังเกตุการณ์เฝ้าระวังไฟไหม้ (Fire Watcher) อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เชื่อมควรคํานึงให้มากก็คือ การเชื่อมภาชนะที่เคยบรรจุเชื้อเพลิงไว้ หรือการเชื่อมในหลุมในบ่อที่อาจมีแก๊ซติดไฟอยู่ในหลุมในบ่อนั้น (เช่น แก๊ซ H2S ที่เรียกกันว่าแก๊ซไข่เน่า) ซึ่งอาจเป็นเหตุทําให้เกิดไฟไหม้ และการระเบิดขึ้นได้ ฉะนั้นผู้ทํางานเชื่อมด้านนี้จึงควรคํานึงถึงและแน่ใจว่าจะไม่เกิดอันตรายขึ้น ตัวอย่างของการระเบิดและมีผู้เสียชีวิตทันทีในลักษณะนี้มีอยู่มากมาย ค้นหาอ่านและดูกันได้ทั้งในกูเกิ้ล และยูทูปครับ

5. อันตรายที่เกิดจากการทำความสะอาดรอยเชื่อม

หลังเลิกงาน ภายหลังการเชื่อมเสร็จแล้ว จะต้องเคาะเอาสะแลค (ภาษาช่างจะเรียกว่าขี้เชื่อม) ออก หรือการเจียร เพื่อตกแต่งรอยเชื่อม กิจกรรมเหล่านิ้อาจทำให้เศษโลหะกระเด็นเข้าตาได้หากไม่ใส่แว่นนิรภัยป้องกันดวงตา รวมไปถึงสุขอนามัยส่วนบุคคล

ซึ่งแนะนำว่าให้ชำระล้างทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังเสร็จงาน และเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนกลับบ้าน และงดนำอาหาร หรือเครื่องดื่มทุกชนิดเข้ามารับประทาน หรือดื่มในบริเวณที่มีการทำงานเชื่อม

แนวทางปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัยในงานเชื่อม และตัดโลหะ

หลังเลิกงาน ภายหลังการเชื่อมเสร็จแล้ว จะต้องเคาะเอาสะแลค (ภาษาช่างจะเรียกว่าขี้เชื่อม) ออก หรือการเจียร เพื่อตกแต่งรอยเชื่อม กิจกรรมเหล่านิ้อาจทำให้เศษโลหะกระเด็นเข้าตาได้หากไม่ใส่แว่นนิรภัยป้องกันดวงตา รวมไปถึงสุขอนามัยส่วนบุคคล

ซึ่งแนะนำว่าให้ชำระล้างทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังเสร็จงาน และเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนกลับบ้าน และงดนำอาหาร หรือเครื่องดื่มทุกชนิดเข้ามารับประทาน หรือดื่มในบริเวณที่มีการทำงานเชื่อม

• ก่อนการตัด หรือเชื่อมโดยเฉพาะบริเวณที่อันตราย (Hazardous Zone) เช่น ใกล้กับบริเวณที่มีไอน้ำมัน หรือสารเคมีไวไฟ จะต้องมีใบอนุญาตทำงาน (Permit) มีการกั้นพื้นที่ทำงานชั่วคราว และปฏิบัตตามขั้นตอนและข้อกำหนเดที่ระบุในคู่มือการทำงาน หรือ จากการเรียนรู้ การอบรม

* แต่สำหรับในงานที่ผมรับผิดชอบอยู่ เนื่องจากเป็นงานก่อสร้าง และปรับปรุงในพื้นที่ที่บางครั้งมีไอน้ำมันอยู่ จึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ เอกสาร และมาตรการต่างๆ มากมายมาใช้บังคับผู้รับเหมาและคนงานให้ปฏิบัตตามอย่างเคร่งครัด เนื่องจากถ้าผลาดขึ้นมา นั่นหมายถึงอันตรายต่อชีวิต และความสูญเสียอื่นๆ อีกมากมายมหาศาล

ทั้งนี้ในงานที่มีความเสี่ยงสูง แบบนี้ก่อนทำงานจะมีระบบเอกสารในการทำการประเมินความเสี่ยงตามแต่ละขั้นตอนการทำงาน ที่เราเรียกกันว่า JHA (Job Hazard Analysis) และมีการขอใบอนุญาตทำงาน และต้องมีการตรวจสอบหน้างาน เพื่อพิจารณาความปลอดภัยที่หน้างานเท่านั้นก่อนผู้ที่มีอำนาจในการพิจารณาความปลอดภัย จะเซ็นอนุญาตให้เริ่มการทำงานในแต่ละครั้ง

• เมื่อทำการเชื่อมหรือตัดบนที่สูง จะต้องระวังและป้องกันลูกไฟ หรือสะเก็ดไฟหล่นใส่ผู้ที่อยู่ด้านล่าง หรืออุปกรณ์ที่ไวไฟอยู่ด้านล่างหรือใกล้เคียงสำหรับงานที่ต้องตัด เชื่อม เจียร์บนที่สูงในบริเวณที่ห้ามเกิดประกายไฟ (hot work) จะต้องจัดให้มีผู้เฝ้าระวังประกายไฟด้านล่างอย่างน้อยหนึ่งคน หรือให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานเดินตรวจตราด้านล่างบริเวณรอบๆที่กำลังทำการเชื่อม ตัด หรือเจียร์อยู่

• ให้ใช้ถาดชนิดที่เป็นโลหะไม่ติดไฟ หรือที่ไม่มีปฏิกริยากับความร้อน รองไว้ใกล้กับบริเวณที่เชื่อมหรือตัดเพื่อป้องกันสะเก็ดไฟ

• ให้ใช้วัสดุที่ไม่ติดไฟ คลุมอุปกรณ์ทางด้านล่างและพรมด้วยน้ำ และก่อนเริ่มจะต้องมีเครื่องดับเพลิงเตรียมไว้พร้อม ต้องมีฉากที่ทำจากวัสดุไม่ติดไฟ สำหรับป้องกันสะเก็ดลูกไฟ

• ผู้ปฏิบัติงานต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสมกับงาน และมีคุณสมบัติสำหรับป้องกันสะเก็ดลูกไฟ

• ต้องสวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว ที่สามารถป้องกันสะเก็ดลูกไฟ และไม่ลุกติดไฟง่ายต้องสวมถุงมือหนังชนิดที่ไม่เปิดปลายนิ้ว และ ต้องสวมรองเท้านิรภัยชนิดหุ้มข้อ

• เมื่อต้องทำงานเชื่อมหรืองานตัดบนที่สูงต้องดำเนินการภายใต้สภาพที่ปลอดภัย และใช้เข็มขัดนิรภัยแบบรัดลำตัวตลอดเวลา

• เครื่องเชื่อมโลหะแต่ละเครื่องต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน หรือสวิตซ์ตัดตอนไฟฟ้า เพื่อป้องกันการใช้กระแสไฟฟ้าเกินขนาด และห้ามใช้ลวดทองแดงมาใช้แทนฟิวส์ตะกั่วเด็ดขาด

• พื้นที่ทำงานเชื่อมต้องเป็นวัสดุทนไฟ พื้นผิวไม่ขรุขระ หรือมีน้ำขัง และต้องจัดให้มีแสงสว่าง และ การระบายอากาศที่ดีในบริเวณที่เชื่อมอย่างเพียงพอ และเหมาะสม

• ห้ามนำถังแก๊สเข้าไปวางใช้งานในสถานที่อับอากาศ หรือวางบนนั่งร้านเด็ดขาด

• เมื่อทำงานเชื่อม หรืองานตัดในบริเวณที่มีอากาศไม่เพียงพอในเวลานานๆ ต้องจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี ในระหว่างการทำงาน ปริมาณออกซิเจนในอากาศต้องไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ และต้องปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยการทำงาน

ที่ผมเขียนขึ้นมาข้างบนนี้เป็นตัวอย่างที่ผมปฏิบัตจริงที่หน้าไซต์งานของผม และใช้ในการจัดฝึกอบรมให้ผู้รับเหมาและคนงานเข้าใจและปฏิบัติตาม ซึ่งผมจะมีการสุ่มไปตรวจ Audit ที่ไซต์งานโดยที่ไม่ได้แจ้งให้ผู้รับเหมา หรือ ผู้ปฏิบัตงานทราบล่วงหน้า

และถ้าหากผมพบว่ามีการฝ่าฝืนกฏ ก็จะมีการสอบสวน หากพบว่าและผู้ปฏิบัติเจตนาฝ่าฝืน (ผ่านการอบรม และทราบในกฏระเบียบ และขั้นตอนในการทำงาน) ก็จะมีการลงโทษสถานหนัก แต่หากผู้ปฏิบัตไม่ได้มีเจตนาที่จะฝ่าฝืน แต่เป็นเพราะนายจ้างไม่เคยจัดการอบรม ไม่เคยจัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสม และปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัตงาน ในกรณีนี้ ผมสั่งลงโทษที่บริษัทผู้รับเหมา และโฟน์แมน หรือผู้ควบคุมงานนะครับ ที่ปล่อยปะละเลย ไม่ดูแลความปลอดภัยให้กับลูกน้อง หรือคนงานในทีมของท่าน

Cr : ชลาธิป อินทรมารุต
จป.วิชาชีพ / ผู้จัดการฝ่ายอาชีวอนามัยละความปลอดภัย
งานก่อสร้างและปรับปรุงสถานีบริการน้ำมันฯ
19 พฤษภาคม 2559

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top